ยาฉีดคุมกำเนิดแบบ DMPA

ต้องการทำนัดฉีดยาคุม?

คลิกที่นี่ เพื่อนัดฉีดยาคุมที่คลินิกวางแผนครอบครัว รพ.จุฬาฯ
คลิกที่นี่ เพื่อปรึกษาคุณหมอวางแผนครอบครัวออนไลน์
คลิกที่นี่เพื่อตรวจสอบค่าบริการ

ยาฉีดคุมกำเนิดคืออะไร?

ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพดี ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 94% เป็นยาฮอร์โมนโปรเจสตินที่ชื่อว่า depot medroxyprogesterone acetate หรือ DMPA ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพก โดย 1 เข็มจะสามารถคุมกำเนิดได้ 3 เดือน

ยาฉีดคุมกำเนิดทำงานอย่างไร?

ยาฉีดคุมกำเนิดมีกลไกการออกฤทธิ์คุมกำเนิดโดยการยับยั้งการตกไข่เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และมีกลไกเสริมโดยการทำให้มูกปากมดลูกเหนียวข้นไม่ให้อสุจิผ่านเข้าไปในโพรงมดลูก และทำให้ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน

ใครใช้ยาฉีดคุมกำเนิดได้บ้าง?

ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ปลอดภัย สามารถใช้ได้กับคนทั่วไปและเหมาะกับคนที่มีลักษณะดังนี้

  1. ต้องการคุมกำเนิดระยะยาว มากกว่า 1 ปี

  2. มักลืมทานยา เนื่องจากวิธีนี้ไม่ต้องเตือนตัวเองให้ทานยา

  3. มารดาให้นมบุตร - ยาฝังไม่มีผลต่อน้ำนม ไม่ทำให้น้ำนมน้อยลง

  4. มีโรคประจำตัวที่อันตรายต่อการตั้งครรภ์ - เช่น โรคหัวใจ

  5. มีโรคประจำตัวที่ห้ามใช้เอสโตรเจน - เช่น โรคไมเกรน คนสูบบุหรี่

  6. ยาฉีดคุมกำเนิด สามารถลดอาการประจำเดือนมามาก ปวดประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ PCOS และภาวะต่างๆทางนรีเวชอื่นๆอีกด้วย แนะนำปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับการรักษาเข้ากับคุณ

  7. น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ (ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก การฉีดยาอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก)

ยาฉีดคุมกำเนิดมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?

ยาฉีดคุมกำเนิดปลอดภัยกับสุขภาพระยะยาว ขณะใช้อาจมีผลดังนี้

  1. ประจำเดือนขาด ยาฉีดคุมกำเนิดกดการตกไข่เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ จึงอาจทำให้ประจำเดือนขาดได้ ไม่มีผลต่อสุขภาพและไม่อันตราย

  2. ประจำเดือนมาไม่ตรงรอบ อาจมานานขึ้น มาสั้นลง รอบห่างขึ้นหรือสั้นลงได้ ประจำเดือนเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลหรือสีคล้ำ โดยส่วนใหญ่อาการประจำเดือนมาไม่ตรงรอบจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เข็มแรกของการฉีดยา และเมื่อฉีดต่อเนื่องจะมีเลือดออกน้อยลงเรื่อยๆหรือประจำเดือนขาดไปหลังเข็มที่ 4
    หากอาการเลือดออกสร้างความรำคาญ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาลดอาการได้

  3. เจริญอาหาร ยาฉีดคุมกำเนิดอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้เนื่องจากเจริญอาหาร โดยมักเพิ่มในคนที่น้ำหนักตัวสูงอยู่เดิม น้ำหนักตัวสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับการทานอาหารและการออกกำลังกาย ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวสูงจึงแนะนำให้ใช้วิธีอื่นเช่น ฝังยาคุม หรือ ห่วงอนามัย
    หากพบว่าใน 2 เข็มแรกน้ำหนักไม่ขึ้น แนวโน้มในระยะยาวน้ำหนักจะไม่เปลี่ยนแปลง

  4. มีผลต่อมวลกระดูกในผู้ที่อายุน้อยกว่า 18 หรือมากกว่า 45 ยาฉีดคุมกำเนิดจะมีผลลดมวลกระดูกเล็กน้อยหากฉีดนานเกิน 2 ปี เมื่อหยุดฉีดยามวลกระดูกจะกลับมาเป็นปกติ และไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าเกี่ยวเนื่องกับภาวะกระดูกพรุน

  5. อื่นๆ ในคนส่วนใหญ่ ยาฉีดคุมกำเนิดไม่มีผลต่อสิว อารมณ์ อารมณ์ทางเพศ สุขภาพระยะยาว

อยากฉีดยาคุมกำเนิด ต้องเตรียมตัวอย่างไร
มีขั้นตอนอย่างไร?

สามารถเริ่มฉีดยาได้เมื่อ

  1. วันที่ 1-7 ของรอบเดือน (วันแรกที่ประจำเดือนมาคือวันที่ 1 ของรอบเดือน)
    กรณีฉีดยาในช่วงนี้ ยาจะคุมกำเนิดให้ทันที

  2. ฝังในวันอื่นๆของรอบเดือนได้ หากมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ ดังนี้
    - ไม่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ประจำเดือนรอบก่อน
    - ใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ (ใช้ถุงยางทุกครั้ง หรือทานยาคุมกำเนิด หรือฉีดยา/ใส่ห่วงอนามัยมาก่อน จนถึงวันที่ฝังยา)
    - ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
    กรณีฉีดยาในช่วงนี้ ยาเริ่มคุมกำเนิดหลังฝัง 7 วัน

ทำนัดเพื่อฉีดยาได้โดยการคลิกที่นี่

วันที่ฉีดยาคุมกำเนิดจะมีการฉีดที่สะโพก แนะนำใส่เสื้อผ้าหลวมสบาย หรือสามารถเปลี่ยนเป็นชุดคลุมโรงพยาบาลได้
หลังฉีดสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ

ก่อนการฉีดยาเข็มแรกจะต้องตรวจกับแพทย์เพื่อพิจารณาข้อบ่งชี้หรือข้อห้ามในการใช้ยา และในเข็มต่อๆไปสามารถเข้ารับการฉีดยาโดยไม่ต้องรอปรึกษาแพทย์

อ้างอิง

  1. Teal S, Edelman A. Contraception Selection, Effectiveness, and Adverse Effects: A Review. JAMA. 2021 Dec 28;326(24):2507-2518. doi: 10.1001/jama.2021.21392. PMID: 34962522.

  2. Becker CM, Bokor A, Heikinheimo O, Horne A, Jansen F, Kiesel L, King K, Kvaskoff M, Nap A, Petersen K, Saridogan E, Tomassetti C, van Hanegem N, Vulliemoz N, Vermeulen N; ESHRE Endometriosis Guideline Group. ESHRE guideline: endometriosis. Hum Reprod Open. 2022 Feb 26;2022(2):hoac009. doi: 10.1093/hropen/hoac009. PMID: 35350465; PMCID: PMC8951218.

  3. Gaffield, M.L. and Kiarie, J. (2016) “Who medical eligibility criteria update,” Contraception, 94(3), pp. 193–194. Available at: https://doi.org/10.1016/j.contraception.2016.07.001.

  4. Gemzell-Danielsson K, Inki P, Boubli L, O'Flynn M, Kunz M, Heikinheimo O. Bleeding pattern and safety of consecutive use of the levonorgestrel-releasing intrauterine system (LNG-IUS)--a multicentre prospective study. Hum Reprod. 2010 Feb;25(2):354-9. doi: 10.1093/humrep/dep426. Epub 2009 Dec 1. PMID: 19955104.