ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

ต้องการทำนัดใส่ห่วงอนามัย?

คลิกที่นี่ เพื่อนัดใส่ห่วงอนามัยที่คลินิกวางแผนครอบครัว รพ.จุฬาฯ
คลิกที่นี่ เพื่อปรึกษาคุณหมอวางแผนครอบครัวออนไลน์
คลิกที่นี่เพื่อตรวจสอบค่าบริการ

ห่วงอนามัยคุมกำเนิดคืออะไร?

ห่วงอนามัยคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวสามารถคุมกำเนิดได้ระยะยาว 5 ปี และมีประสิทธิภาพดีเทียบเท่าการทำหมัน ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 99.9% และเมื่อถอดยาแล้วจะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ปกติตามสภาพร่างกายเดิม

ห่วงอนามัยมีสองชนิด คือ
1. Inara หรือห่วงอนามัยแบบทองแดง คุมได้ 5 ปี
2. Mirena หรือห่วงอนามัยแบบฮอร์โมน คุมได้ 5 ปี ตัวยาชื่อ levonorgestrel

ห่วงทั้งสองแบบมีลักษณะเป็นห่วงพลาสติกนิ่มๆขนาด 2-3 เซนติเมตร ในห่วงทองแดงจะมีทองแดงพันอยู่รอบๆแกน ส่วนห่วงฮอร์โมนจะมียาเคลือบอยู่ที่ห่วง และมีไหมจากปลายห่วง
หลังใส่ห่วงจะมองไม่เห็นจากภายนอก และมีไหมอยู่ในช่องคลอดประมาณ 2 เซนติเมตรเพื่อใช้ในการถอดห่วง

ห่วงอนามัยทำงานอย่างไร?

ห่วงอนามัยแบบทองแดง มีกลไกการทำงานคือทองแดงจะขัดขวางการทำงานของอสุจิทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิขึ้น โดยไม่อาศัยฮอร์โมน

ห่วงอนามัยแบบฮอร์โมน จะปล่อยฮอร์โมนออกมาในโพรงมดลูกระดับต่ำๆทุกวัน มีกลไกการทำงานคือทำให้มูกปากมดลูกเหนียวข้นจนอสุจิไม่สามารถผ่านเข้าโพรงมดลูกได้ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน

ใครใช้ห่วงอนามัยได้บ้าง?

ห่วงอนามัยทั้งสองแบบปลอดภัยสำหรับคนไข้ทั่วไป มีปฏิกิริยากับยาโรคประจำตัวน้อย ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง
เหมาะกับคนทั่วไปและคนที่มีโรคประจำตัว

  1. ต้องการคุมกำเนิดระยะยาว มากกว่า 1 ปี

  2. มักลืมทานยา เนื่องจากวิธีนี้ไม่ต้องเตือนตัวเองให้ทานยา

  3. มารดาให้นมบุตร - ยาฝังไม่มีผลต่อน้ำนม ไม่ทำให้น้ำนมน้อยลง

  4. มีโรคประจำตัวที่อันตรายต่อการตั้งครรภ์ - เช่น โรคหัวใจ

  5. มีโรคประจำตัวที่ห้ามใช้เอสโตรเจน - เช่น โรคไมเกรน คนสูบบุหรี่

  6. ห่วงอนามัยแบบฮอร์โมน สามารถลดอาการประจำเดือนมามาก ปวดประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ PCOS และภาวะต่างๆทางนรีเวชอื่นๆอีกด้วย แนะนำปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับการรักษาเข้ากับคุณ

ห่วงอนามัยมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?

ห่วงอนามัยแบบทองแดง

  • ไม่มีผลต่อประจำเดือน ประจำเดือนจะมาตามที่เคยมาก่อนใส่ห่วง

  • อาจมีตกขาวมากขึ้นเล็กน้อย ไม่อันตราย

  • ในคนที่ปวดประจำเดือนอยู่เดิม อาจทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้น (ดังนั้นคนที่ปวดประจำเดือนแนะนำใส่ห่วงแบบฮอร์โมน)

ห่วงอนามัยแบบฮอร์โมน

  • ประจำเดือนขาด - ห่วงอนามัยจะป้องกันการตั้งครรภ์โดยการปล่อยฮอร์โมนตลอดเวลา ทำให้ประจำเดือนขาดได้ ซึ่งไม่มีผลต่อสุขภาพระยะยาว และช่วยป้องกันมะเร็งโพรงมดลูกได้อีกด้วย

  • เลือดออกกระปริดกระปรอย - เกิดจากกลไกการทำงานของยา อาจมีเลือดออกเล็กน้อย สีน้ำตาล สีแดง หรือสีดำ โดยออกไม่เป็นรอบเดือน มักเกิดขึ้นหลังจากใส่ ในคนส่วนใหญ่เมื่อใส่ห่วงอนามัยเกิน 6 เดือนอาการเลือดออกไม่ตรงรอบจะลดลง และสามารถพบแพทย์เพื่อใช้ยาลดอาการได้ ไม่อันตรายต่อสุขภาพ

  • ปวดหน่วงท้องน้อยชั่วคราว - ในช่วง 1 สัปดาห์หลังใส่ห่วงอนามัยอาจมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยได้

ห่วงอนามัยทั้งสองแบบ ไม่มีผลทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก ไม่เกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน และไม่มีผลต่อสุขภาพระยะยาว ในคนส่วนใหญ่จะไม่มีผลต่อน้ำหนัก สิว อารมณ์ หรือความต้องการทางเพศ

หากมีอาการข้างเคียงแล้วรู้สึกว่ารบกวนชีวิต สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อรับยาลดอาการได้

อยากใส่ห่วงอนามัย ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

สามารถเริ่มใส่ห่วงอนามัยได้เมื่อ

  1. วันที่ 1-7 ของรอบเดือน (วันแรกที่ประจำเดือนมาคือวันที่ 1 ของรอบเดือน)
    กรณีใส่ห่วงในช่วงนี้ จะคุมกำเนิดให้ทันที

  2. ใส่ในวันอื่นๆของรอบเดือนได้ หากมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ ดังนี้
    - ไม่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ประจำเดือนรอบก่อน
    - ใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ (ใช้ถุงยางทุกครั้ง หรือทานยาคุมกำเนิด หรือฉีดยา/ใส่ห่วงอนามัยมาก่อน จนถึงวันที่ฝังยา)
    - ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
    กรณีใส่ห่วงในช่วงนี้ จะเริ่มคุมกำเนิดหลังใส่ 7 วัน

ทำนัดเพื่อใส่ห่วงอนามัยได้โดยการคลิกที่นี่

วันที่ใส่ห่วงอนามัย แนะนำให้ใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบายเนื่องจากต้องมีการตรวจภายใน หากเสื้อผ้าที่สวมไม่สะดวกสามารถเปลี่ยนเป็นเสื้อคลุมของโรงพยาบาลได้
หลังจากที่ใส่ห่วงอนามัย งดยกของหนัก 2-3 วัน และสามารถใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปได้

ขั้นตอนการใส่ห่วงอนามัยทำอย่างไร เจ็บไหม?

ก่อนใส่ห่วงอนามัย คุณหมอจะทำการตรวจภายในเพื่อวัดขนาดและลักษณะของมดลูก และจะปรับให้ห่วงอนามัยเข้ากับมดลูกของแต่ละคน

การใส่ห่วงอนามัย จะใช้อุปกรณ์ใส่ในช่องคลอดเพื่อให้มองเห็นปากมดลูก และใช้เครื่องมือวัดความยาวของมดลูก หลังจากนั้นจะใส่ห่วงอนามัยโดยการดันห่วงผ่านหลอดพลาสติกเข้าไปในโพรงมดลูก ระหว่างใส่อาจมีอาการปวดหน่วงท้องเล็กน้อย

หลังจากใส่ห่วงอนามัย อาจมีอาการปวดหน่วงท้อง 2-3 วัน และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้เล็กน้อย คุณหมอจะจ่ายยาแก้ปวดให้เพื่อลดอาการปวด

เมื่อครบกำหนดถอดห่วง หรือเมื่อต้องการมีบุตร สามารถมาพบแพทย์เพื่อถอดยาออกได้ การถอดจะทำโดยการใช้อุปกรณ์ดึงห่วงออกมาผ่านทางปากมดลูก และหากต้องการใส่ห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิดต่อสามารถใส่ได้ในครั้งเดียวกันเลย

อ้างอิง

  1. Teal S, Edelman A. Contraception Selection, Effectiveness, and Adverse Effects: A Review. JAMA. 2021 Dec 28;326(24):2507-2518. doi: 10.1001/jama.2021.21392. PMID: 34962522.

  2. Becker CM, Bokor A, Heikinheimo O, Horne A, Jansen F, Kiesel L, King K, Kvaskoff M, Nap A, Petersen K, Saridogan E, Tomassetti C, van Hanegem N, Vulliemoz N, Vermeulen N; ESHRE Endometriosis Guideline Group. ESHRE guideline: endometriosis. Hum Reprod Open. 2022 Feb 26;2022(2):hoac009. doi: 10.1093/hropen/hoac009. PMID: 35350465; PMCID: PMC8951218.

  3. Gaffield, M.L. and Kiarie, J. (2016) “Who medical eligibility criteria update,” Contraception, 94(3), pp. 193–194. Available at: https://doi.org/10.1016/j.contraception.2016.07.001.

  4. Gemzell-Danielsson K, Inki P, Boubli L, O'Flynn M, Kunz M, Heikinheimo O. Bleeding pattern and safety of consecutive use of the levonorgestrel-releasing intrauterine system (LNG-IUS)--a multicentre prospective study. Hum Reprod. 2010 Feb;25(2):354-9. doi: 10.1093/humrep/dep426. Epub 2009 Dec 1. PMID: 19955104.