ยาฝังคุมกำเนิด

ต้องการทำนัดฝังยา?

คลิกที่นี่ เพื่อนัดฝังยาคุมที่คลินิกวางแผนครอบครัว รพ.จุฬาฯ
คลิกที่นี่ เพื่อปรึกษาคุณหมอวางแผนครอบครัวออนไลน์
คลิกที่นี่เพื่อตรวจสอบค่าบริการ

ยาฝังคุมกำเนิดคืออะไร?

ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวโดยใช้ฮอร์โมน สามารถคุมกำเนิดได้ระยะยาว 3-5 ปี และมีประสิทธิภาพดีเทียบเท่าการทำหมัน ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 99.9% และเมื่อถอดยาแล้วจะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้ปกติตามสภาพร่างกายเดิม

ยาฝังคุมกำเนิดมีสองชนิด คือ
1. Implanon คุมกำเนิดได้ 3 ปี มี 1 หลอด ตัวยาชื่อ etonogestrel
2. Jadelle คุมกำเนิดได้ 5 ปี มี 2 หลอด ตัวยาชื่อ levonorgestrel

ยาฝังมีลักษณะเป็นหลอดซิลิโคนนุ่มๆบางๆ กว้าง 0.2 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร คล้ายหลอดยาคูลท์ เมื่อฝังยาแล้วจะไม่สามารถมองเห็นหลอดยาจากภายนอก จะสามารถคลำหลอดยาที่ต้นแขนได้
ภายนอกจะมองเห็นเพียงแผลเป็นจางๆเล็กๆที่ต้นแขนด้านใน

ยาฝังคุมกำเนิดทำงานอย่างไร?

ยาฝังจะปล่อยยาฮอร์โมนที่ชื่อว่าโปรเจสตินขนาดต่ำๆไปในร่างกายทุกวัน เพื่อทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้นป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านได้ และมีกลไกเสริมคือการกดการตกไข่และเปลี่ยนผนังมดลูกให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้

ใครฝังยาคุมได้บ้าง?

ยาฝังคุมกำเนิดมีฮอร์โมนเพียงชนิดเดียว จึงปลอดภัย ไม่มีปฏิกิริยากับยาโรคประจำตัวส่วนใหญ่ ไม่มีผลก่อมะเร็ง
เหมาะกับคนทั่วไปและคนที่มีโรคประจำตัว

  1. ต้องการคุมกำเนิดระยะยาว มากกว่า 1 ปี

  2. มักลืมทานยา เนื่องจากวิธีนี้ไม่ต้องเตือนตัวเองให้ทานยา

  3. ปวดท้องประจำเดือน - ระหว่างฝังยาจะช่วยลดอาการปวดประจำเดือน

  4. มารดาให้นมบุตร - ยาฝังไม่มีผลต่อน้ำนม ไม่ทำให้น้ำนมน้อยลง

  5. มีโรคประจำตัวที่อันตรายต่อการตั้งครรภ์ - เช่น โรคหัวใจ

  6. มีโรคประจำตัวที่ห้ามใช้เอสโตรเจน - เช่น โรคไมเกรน คนสูบบุหรี่

  7. ยาฝังสามารถรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช็อคโกแลตซีส PCOS และภาวะต่างๆทางนรีเวชอื่นๆอีกด้วย แนะนำปรึกษาคุณหมอเพื่อปรับการรักษาเข้ากับคุณ

ยาฝังมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?

ยาฝังคุมกำเนิดใช้ฮอร์โมนระดับต่ำ จึงปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย

  1. ประจำเดือนขาด ยาฝังจะป้องกันการตั้งครรภ์โดยการกดการตกไข่ ทำให้ประจำเดือนไม่มา ซึ่งไม่อันตรายต่อสุขภาพ และสามารถลดอาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย

  2. เลือดออกนอกรอบเดือน เป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยซึ่งเกิดจากกลไกการทำงานของยา ไม่มีผลต่อสุขภาพและไม่อันตราย ลักษณะเลือดอาจเปลี่ยนไป เป็นสีน้ำตาล แดง หรือดำ มีทั้งรอบเดือนสั้นลง รอบเดือนยาวขึ้น หรือหยดไม่ตรงรอบ หรือประจำเดือนหายไปนานๆ ทั้งหมดนี้ไม่อันตราย

  3. ฟกช้ำ หลังจากฝังยาอาจมีรอยฟกช้ำบริเวณยา ซึ่งจะหายเองได้ใน 7-14 วัน

  4. อื่นๆ ในคนส่วนใหญ่ที่ฝังยา จะไม่มีผลต่อน้ำหนัก สิว อารมณ์ ความต้องการทางเพศ

    หากมีอาการข้างเคียงแล้วรู้สึกว่ารบกวนชีวิต สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อรับยาลดอาการได้

อยากฝังยาคุม ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

สามารถเริ่มฝังยาคุมได้เมื่อ

  1. วันที่ 1-7 ของรอบเดือน (วันแรกที่ประจำเดือนมาคือวันที่ 1 ของรอบเดือน)
    กรณีฝังในช่วงนี้ ยาจะคุมกำเนิดให้ทันที

  2. ฝังในวันอื่นๆของรอบเดือนได้ หากมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ ดังนี้
    - ไม่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ประจำเดือนรอบก่อน
    - ใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ (ใช้ถุงยางทุกครั้ง หรือทานยาคุมกำเนิด หรือฉีดยา/ใส่ห่วงอนามัยมาก่อน จนถึงวันที่ฝังยา)
    - ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
    กรณีฝังยาในช่วงนี้ ยาเริ่มคุมกำเนิดหลังฝัง 7 วัน

ทำนัดเพื่อฝังยาคุมกำเนิดได้โดยการคลิกที่นี่

วันที่ฝังยา แนะนำให้ใส่เสื้อผ้าที่หลวมสบาย สามารถเปิดบริเวณต้นแขนข้างที่ไม่ถนัดได้ถึงรักแร้ หากเสื้อผ้าที่สวมไม่สะดวกกับการฝังสามารถเปลี่ยนเป็นเสื้อคลุมของโรงพยาบาลได้

หลังจากฝังยา งดยกของหนัก 7 วัน และอาจมีรอยฟกช้ำบริเวณที่ฝังได้ นอกเหนือจากนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ

ขั้นตอนฝังยาทำอย่างไร เจ็บไหม?

การฝังยาคุมทำโดยการฉีดยาชา อาจมีความรู้สึกเจ็บแสบๆขณะฉีดยาชาคล้ายตอนเจาะเลือด จะไม่รู้สึกเจ็บระหว่างฝังยา

หลังฉีดยาชา คุณหมอจะกรีดแผลเล็กๆประมาณ 0.5 เซ้นติเมตรที่บริเวณต้นแขนด้านใน และใช้อุปกรณ์ในการใส่ยาฝังเข้าไปผ่านแผล และจะติดพลาสเตอร์กันน้ำบริเวณแผล และพันผ้ายืดรอบแผลเพื่อลดรอยฟกช้ำ

เมื่อครบ 7 วัน สามารถแกะพลาสเตอร์กันน้ำออกได้ และใช้ชีวิตได้ตามปกติ

เมื่อครบกำหนดถอดยา หรือเมื่อต้องการมีบุตร สามารถมาพบแพทย์เพื่อถอดยาออกได้ โดยถอดยาจากแผลขนาด 0.5 เซนติเมตรที่เดิม และสามารถฝังยาคุมกำเนิดหลอดใหม่เพื่อคุมกำเนิดต่อได้เลย
สามารถใช้การฝังยาเพื่อคุมกำเนิดจนเข้าวัยทอง
เมื่อถอดยาแล้ว ประจำเดือนจะกลับมาภายใน 1-3 เดือน และสามารถตั้งครรภ์ได้ปกติตามสภาพร่างกายเดิม (หากตั้งครรภ์ง่ายอยู่เดิมก็จะง่ายเท่าเดิม หากตั้งครรภ์ยากอยู่เดิมก็จะยากเท่าเดิม)

อ้างอิง

  1. FSRH Guideline (February 2021) Progestogen-only Implant. BMJ Sex Reprod Health. 2021 Feb;47(Suppl 1):1-62. doi: 10.1136/bmjsrh-2021-CHC. PMID: 33593815.

  1. Teal S, Edelman A. Contraception Selection, Effectiveness, and Adverse Effects: A Review. JAMA. 2021 Dec 28;326(24):2507-2518. doi: 10.1001/jama.2021.21392. PMID: 34962522.

  2. Becker CM, Bokor A, Heikinheimo O, Horne A, Jansen F, Kiesel L, King K, Kvaskoff M, Nap A, Petersen K, Saridogan E, Tomassetti C, van Hanegem N, Vulliemoz N, Vermeulen N; ESHRE Endometriosis Guideline Group. ESHRE guideline: endometriosis. Hum Reprod Open. 2022 Feb 26;2022(2):hoac009. doi: 10.1093/hropen/hoac009. PMID: 35350465; PMCID: PMC8951218.

  3. Mansour D, Korver T, Marintcheva-Petrova M, Fraser IS. The effects of Implanon on menstrual bleeding patterns. Eur J Contracept Reprod Health Care. 2008 Jun;13 Suppl 1:13-28. doi: 10.1080/13625180801959931. PMID: 18330814.