หน้าเพจนี้สำหรับผู้ที่ได้รับการฝังยาคุมกำเนิดจากโรงพยาบาลจุฬาฯ
คลิกที่นี่ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการฝังยา
คลิกที่นี่ เพื่อทำนัดฝังยา
วิธีดูแลแผลฝังยาคุมกำเนิด
คุณจะได้รับบัตรประจำตัวจากเจ้าหน้าที่หลังจากฝังยา
ในบัตรจะระบุวันที่ฝังยา วันครบกำหนดฝังยา และชนิดยาฝังที่คุณได้รับ
โปรดตรวจบัตรสอบอย่างละเอียดและเก็บไว้เพื่อเป็นข้อมูลส่วนตัว
เมื่อจากที่ฝังยาคุมกำเนิด คุณจะมีแผลขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตรที่บริเวณต้นแขนด้านใน
ปิดด้วยเทปปิดแผล พลาสเตอร์กันน้ำและผ้ายืดสีน้ำตาล
คุณจะสามารถคลำหลอดยาฝังได้ที่ผิวหนังด้านข้างของแผลเป็นลักษณะหลอดยายาว 3 เซนติเมตร
1. หลังจากที่ฝังยาคุมกำเนิด ให้คุณพันผ้ายืดสีน้ำตาลรอบบริเวณที่ฝังยา 1 วัน หากรู้สึกว่าแน่นเกินไป หรืออาบน้ำ ให้คลายออกและพันใหม่ได้
2. เมื่อครบ 1 วัน ให้ถอดผ้ายืดออก จะพบพลาสเตอร์กันน้ำ บริเวณที่ฝังยาอาจมีรอยฟกช้ำได้เล็กน้อยเป็นปกติ อาจพบว่ามีรอยเลือดเล็กน้อยที่บริเวณพลาสเตอร์กันน้ำเป็นปกติ
3. เมื่อครบ 7 วัน ให้ค่อยๆแกะพลาสเตอร์กันน้ำออก ด้านในจะพบเทปปิดแผลสีขาว ให้ค่อยๆลอกเทปออก
4. สังเกตลักษณะแผล จะเป็นเส้นบางๆยาว 3 มิลลิเมตร ถ้าพบว่าไม่มีเลือดออก ฟกช้ำเพียงเล็กน้อย ไม่เจ็บ ไม่บวม สามารถทำกิจกรรมด้วยแขนข้างนั้นตามปกติ รอยฟกช้ำจะค่อยๆหายใน1-2 สัปดาห์
5. แผลจะสีจางลงและจะเนียนขึ้นในช่วง 3 เดือน หากกังวลเรื่องแผลเป็นสามารถทาเจลซิลิโคนลดแผลเป็นได้
ข้อควรรู้หลังฝังยาคุมกำเนิด
ฤทธิ์คุมกำเนิด
o กรณีฝังยาในช่วง 5 วันแรกของประจำเดือน ยาฝังจะออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้ทันที ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ ยกตัวอย่าง มีประจำเดือนวันแรกวันที่ 1 มกราคม ฝังยาวันที่ 5 มกราคม ยาจะมีผลคุมกำเนิดทันทีที่ฝังยา
o กรณีฝังยาในช่วงอื่นของรอบเดือน ยาฝังจะออกฤทธิ์คุมกำเนิดหลังจากที่ฝัง 7 วัน ดังนั้นใน 7 วันแรกหลังฝังยาจะต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เมื่อครบ 7 วันแล้วไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ ยกตัวอย่าง มีประจำเดือนวันแรกวันที่ 1 มกราคม ฝังยาวันที่ 6 มกราคม ยาจะมีผลคุมกำเนิดวันที่ 13 มกราคม
โรคติดเชื้อ - ยาฝังคุมกำเนิดไม่ออกฤทธิ์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนคู่นอน หรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ แนะนำให้ใส่ถุงยางอนามัยร่วมด้วย
ประจำเดือนเปลี่ยนไป – หลังจากที่ฝังยา ประจำเดือนจะเปลี่ยนไปโดยไม่มีผลต่อสุขภาพ ไม่มีอันตรายใดๆ เป็นได้ทุกแบบดังนี้ ไม่มีประจำเดือนเลย เลือดออกกระปริดกระปรอย ประจำเดือนมาถี่ขึ้น ประจำเดือนมาห่างขึ้น หรือประจำเดือนมาไม่เป็นรอบ เป็นผลจากยาฝังเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ หากเลือดที่ออกไม่สร้างความรำคาญ สามารถสังเกตอาการต่อได้ แต่หากอาการสร้างความรำคาญจะมียาเพื่อช่วยลดอาการ
การจดประจำเดือน - แนะนำให้คุณจดประจำเดือนเพื่อสังเกตรอบเดือนและอาการต่างๆ สามารถใช้วิธีจดได้ตามสะดวก ทางคลินิกวางแผนครอบครัวแนะนำให้ใช้แอป “Clue” ซึ่งสามารถจดบันทึกอาการต่างๆได้อย่างละเอียด ช่วยอำนวยความสะดวกหากต้องการปรึกษาคุณหมอ คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดแอป “Clue”
ผลข้างเคียง - โดยส่วนใหญ่แล้ว ยาฝังไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ในส่วนน้อยอาจพบอาการปวดหัว คัดตึงเต้านม คลื่นไส้ อารมณ์แปรปรวน หิวมากขึ้น ผมร่วง อาการเหล่านี้พบได้ไม่บ่อยและไม่อันตราย หากอาการสร้างความรำคาญสามารถปรึกษาได้
คำถามที่พบบ่อย
(คลิกที่คำถามเพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติม)