ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน

การคุมกำเนิดฉุกเฉิน ใช้หลังการมีเพศสัมพันธ์สำหรับคนที่ไม่ได้ป้องกันเพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์ แต่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ดีเท่ากับวิธีอื่นๆที่ใช้ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญคือต้องใช้อย่างถูกวิธีเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากยา

ผู้ใดเหมาะกับวิธีการคุมกำเนิดฉุกเฉิน?

  1. หญิงที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิด

  2. หญิงที่มีเพศสัมพันธ์และใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างผิดพลาด

มีวิธีใดบ้างในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน?

  1. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน

  2. ห่วงอนามัยแบบทองแดง

การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยยาเม็ด

ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ประกอบด้วยโปรเจสติน 150 มิลลิกรัม (หรือ 75 มิลลิกรัม 2 เม็ด) มีหลายยี่ห้อ เช่น Postinor, Mary Pink, Madonna สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา

วิธีใช้คือโดยรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกัน ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 75% (หากรับประทานภายใน 120 ชั่วโมงอาจป้องกันการตั้งครรภ์ได้แต่ประสิทธิภาพลดลง) ยาเม็ดจะทำการยับยั้งการไข่ตก ป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิสนธิจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งนั้น ดังนั้นยาจะไม่ป้องกันสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ครั้งถัดๆไป และต้องใช้การคุมกำเนิดอื่นๆตามหลังด้วยหากไม่ต้องการตั้งครรภ์

หลังจากทานยา

  • อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกกระปริดกระปรอยทางช่องคลอดได้ เป็นผลข้างเคียงจากยา

  • สังเกตประจำเดือนในรอบถัดไป

  • ทำการตรวจการตั้งครรภ์ 2-3 สัปดาห์หลังจากการมีเพศสัมพันธ์เพื่อยืนยัน หากตั้งครรภ์ให้รีบพบแพทย์

  • คุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากยาป้องกันการตั้งครรภ์เพียงการมีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียว

การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยห่วงอนามัยทองแดง

ห่วงอนามัยทองแดง (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่) เป็นห่วงเล็กๆใส่ในมดลูกโดยแพทย์ หากใส่ภายใน 120 ชั่วโมงของการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกันจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 100% และสามารถใส่ต่อเพื่อคุมกำเนิดระยะยาวได้

การใส่ห่วงอนามัยต้องทำโดยแพทย์ที่สถานพยาบาล จึงไม่สามารถหาซื้อเองตามร้านขายยาได้