ท้องไม่พร้อม

มีเพศสัมพันธ์แล้ว มีความเสี่ยงท้องหรือไม่?

หากคุณใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างถูกต้องขณะมีเพศสัมพันธ์ วิธีคุมกำเนิดจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 95-99% และเป็นการป้องกันการท้องไม่พร้อมที่ดีที่สุด แนะนำให้ทุกคนที่ยังไม่พร้อมมีลูกศึกษาหาวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพเพื่อและเริ่มใช้ก่อนการมีเพศสัมพันธ์

มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกัน ต้องทำอย่างไร?

แนะนำปฏิบัติดังนี้

  1. ทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอกเพื่อล้างน้ำเชื้อออก ไม่จำเป็นต้องล้างภายในช่องคลอด

  2. ตรวจการตั้งครรภ์โดยชุดตรวจปัสสาวะทันที เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้ท้องอยู่เดิม

  3. ใช้วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด โดยเลือกวิธีดังนี้

    • ทานยาคุมฉุกเฉิน หรือ levonorgestrel 0.75 มิลลิกรัม ทันที ยาจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดภายใน 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ และสามารถใช้ได้ถึง 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์
      ยาคุมฉุกเฉินจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 70%

    • พบแพทย์เพื่อใส่ห่วงอนามัยทันที โดยจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 100% หากใส่ภายใน 5 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ และจะคุมกำเนิดต่อระยะยาวได้อีกด้วย

  4. ตรวจการตั้งครรภ์ซ้ำใน 2-4 สัปดาห์หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือเมื่อประจำเดือนขาด
    (เมื่อมีการตั้งครรภ์ ชุดตรวจจะขึ้นสองขีด และจะขึ้นหลังจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ 2-4 สัปดาห์)

  5. ระหว่างรอตรวจการตั้งครรภ์ คุมกำเนิดทุกครั้งด้วยถุงยาง เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินออกฤทธิ์ระยะสั้น หากมีการร่วมเพศอีกหลังจากนั้นยาจะไม่ครอบคลุม จะเสี่ยงการตั้งครรภ์อีก การใช้ยาคุมฉุกเฉินซ้ำจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง

จะมั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์เมื่อ

  • ประจำเดือนรอบถัดไปมาปกติ หรือ

  • ตรวจการตั้งครรภ์ไม่ขึ้น 28 วันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์

ทำยังไงถ้าท้องไม่พร้อม?

หากท้องไม่พร้อมมีทางเลือกดังนี้

  1. ตั้งครรภ์ต่อ - ผู้ตั้งครรภ์สามารถตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อและคลอดบุตร โดยควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงบุตรและมีความรับผิดชอบในการดูแลบุตรให้ดีที่สุด หากเลือกทางนี้แนะนำให้ฝากครรภ์ภายใน 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หมั่นพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ งดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และวางแผนเรื่องการงานและการเงินเพื่อให้เลี้ยงดูบุตรได้ดี

  2. คลอดทารกแล้วส่งให้ผู้อุปการะ - ผู้ตั้งครรภ์ดูแลครรภ์จนคลอด หลังคลอดส่งทารกให้อุปการะ อย่างไรก็ตามการอุปการะเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและควรผ่านสถานสงเคราะห์ของภาครัฐ

  3. ยุติการตั้งครรภ์ - ปัจจุบันสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกกฎหมายในกรณีต่อไปนี้ (การทำแท้ง)

    • ตั้งครรภ์แล้วอันตรายต่อสุขภาพกายหรือใจ

    • ทารกมีความเสี่ยงคลอดออกมาผิดปกติรุนแรง

    • การตั้งครรภ์เกิดจากความผิดทางเพศ เช่น การข่มขืน

    • อายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ที่หญิงยืนยันยุติการตั้งครรภ์

    • อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ที่หญิงยืนยันยุติการตั้งครรภ์ (กรณีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์จะต้องรับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อยุติการตั้งครรภ์)

การยุติการตั้งครรภ์มี 2 วิธี ดังนี้

  1. การใช้ยา - เป็นการรับประทานยา 2 ตัว ห่างกัน 24-48 ชั่วโมง หลังจากรับประทานยาตัวที่สองจะมีเลือดออกช่องคลอด และมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยเล็กน้อยถึงปานกลาง ประมาณ 24 ชั่วโมงหลังทานยาตัวที่สองถุงการตั้งครรภ์จะหลุดทางช่องคลอด (หากอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ถุงการตั้งครรภ์จะมีขนาดเล็ก) อาการปวดหน่วงท้องน้อยจะลักษณะคล้ายปวดประจำเดือน และสามารถทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาได้

  2. การขูดมดลูกหรือใช้เครื่องดูด - เป็นการใช้เครื่องมือเล็กๆสอดผ่านปากมดลูกเพื่อดูดถุงการตั้งครรภ์และเลือดในโพรงมดลูกออกมา ระหว่างทำจะมีการดมยาสลบเพื่อให้ไม่เจ็บ หลังทำจะปวดหน่วงท้องน้อย 2-3 วัน และพักฟื้น 1-2 วัน

ทั้งสองวิธีมีภาวะแทรกซ้อนน้อย แพทย์จะประเมินว่าวิธีใดเหมาะสมกับผู้ตั้งครรภ์

ภายหลังการยุติการตั้งครรภ์ แนะนำให้คุณใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำขึ้นอีก
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิดต่างๆคลิกที่นี่

ต้องการทำนัดเพื่อปรึกษาแพทย์ คลิกที่นี่

ต้องการปรึกษาคุณหมอทางอีเมล คลิกที่นี่